สรุป PANEL DISCUSSION #2
พลิกโฉมการเรียนรู้ SMT เพื่อการศึกษาฐานสมรรถนะ
ดำเนินรายการโดย ดร.เหมือนฝัน เยาว์วิวัฒน์
ดร.สิริกร มณีรินทร์
ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน
รศ.ประภาภัทร นิยม
อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช
รองผู้อำนวยการ สสวท.
สรุปการบรรยาย
ดร.สิริกร มณีรินทร์
ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะทั้งระบบ
การเรียนรู้ SMT เพื่อการศึกษาฐานสมรรถนะนั้น เป็นการศึกษาที่พัฒนาระดับความสามารถทั้งด้านทักษะศตวรรษที่ 21 และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน โดยที่มาและความสำคัญของการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้นเป็นผลมาจาก
- ความก้าวหน้าของวิทยาการต่าง ๆ ของโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
- การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทยมากขึ้น
- ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่สะท้อนถึงศักยภาพของผู้เรียนที่สามารถออกไปสู่สังคมการทำงานใน อนาคตได้
จากประเด็นข้างต้น จึงส่งผลให้มีการปฏิรูปหลักสูตรทั้งระบบโดยการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลให้อยู่บนฐานแนวคิดเดียวกันและมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นระบบทำให้การปฏิบัติเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ในข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ได้ระบุให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และมาตรา 71 ระบุให้ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เห็นผลเมืองที่ดีมีคุณภาพและความสามารถสูง กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาชาติ พ.ศ. 2560 โดยกำหนดรูปแบบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ คือ การเป็นผู้เรียนรู้ การเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยมีค่านิยมร่วมคือ ความเพียรอันบริสุทธิ์ ความพอเพียง วิถีประชาธิปไตย ความเท่าเทียมเสมอภาค และให้มีลักษณะนิสัยและคุณธรรมพื้นฐานที่ดีงาม
รวมทั้งในการจัดการศึกษาในหลายประเทศใช้กรอบหลักสูตรแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะในการช่วยแก้ปัญหาของความรู้ที่มีหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้การว่างงานสูงขึ้น ผู้เรียนจบการศึกษาแต่ทำงานไม่เป็น อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ และผู้เรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน
ดังนั้นจึงมีการปรับหลักสูตรไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยมีแนวคิดดังนี้
- มุ่งพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลอย่างเป็นองค์รวม
- ปลดล็อคอุปสรรคที่รัดตรึงครู เช่น ตัวชี้วัด ความซ้ำซ้อน
- พัฒนาสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ การดูแลระบบธรรมชาติ การรู้เท่าทันและเทคโนโลยีดิจิทัลคู่ไปกับการบ่มเพาะด้านจิตใจและคุณค่าความเป็นไทย
- ประยุกต์ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นที่ตนนับถือ เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน ตระหนักในหน้าที่ แยกแยะประโยชน์ส่วนตนออกจากประโยชน์ส่วนรวม เคารพ สถาบันหลักและสัญลักษณ์ของชาติไทย
การที่จะทำให้เกิดสมรรถนะนั้น OECD ได้อธิบายให้เห็นว่า ควรให้นักเรียนได้มีความรู้ ทักษะ เจตคติและคุณค่าการใช้ชีวิต เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดสมรรถนะ
สำหรับการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ มีแผนการดำเนินการให้ใช้กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะระดับประถมกับโรงเรียนที่มีความพร้อมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 และในปี พ.ศ. 2566 จะใช้กับโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับมัธยมและโรงเรียนระดับประถมที่เหลือ โดยในปี พ.ศ. 2567 จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทุกโรงเรียน โดยก่อนการนำไปใช้กับทุกโรงเรียนจะผ่านกระบวนการทดลองใช้กับโรงเรียนที่มีความพร้อม ประกอบกับให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และครูมาวิพากษ์หลักสูตร และระหว่างทดลองใช้จะมีการวิจัยทดลองการใช้หลักสูตรด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับหลักสูตรก่อนการนำไปใช้จริงกับทุกโรงเรียน โดยผลจากการทดลองใช้กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะกับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด 226 โรงเรียน พบว่าเกิดการพัฒนาระบบโค้ชพี่เลี้ยงโรงเรียนในพื้นที่ เกิดการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการพี่เลี้ยง เกิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ สร้างทักษะใหม่ของครูให้สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก เกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในสถานการณ์จริงในบริบทของชุมชนและจังหวัด เกิดภาคีความร่วมมือในระดับจังหวัดและระดับประเทศเพื่อมาร่วมวางวิสัยทัศน์ พันธกิจ แนวคิดหลักในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะของโรงเรียน
ในส่วนร่างของโครงสร้างเวลาเรียนกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ เวลาเรียนทั้งหมดของ 7 สาระการเรียนรู้ ของช่วงชั้นที่ 1 (ป.1- ป.3) รวมไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี ส่วนเวลาเรียนทั้งหมดของ 9 สาระการเรียนรู้ของช่วงชั้นที่ 2 (ป.4- ป.6) รวมไม่เกิน 900 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสาระที่เพิ่มขึ้นจากช่วงชั้นที่ 1 ก็คือ เทคโนโลยีดิจิทัล กับ การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ และในหลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีการตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น เนื้อหาที่ซ้ำซ้อน และปรับการสอนที่เน้นการบูรณาการเพื่อลดเวลาเรียน
รศ.ประภาภัทร นิยม
อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
แนวทางการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาและครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ SMT หลักสูตรฐานสมรรถนะ
ในการนำไปใช้ในโรงเรียนจะมีระบบการโค้ชเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ และเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียนจำเป็นต้องก้าวข้ามสิ่งที่เคยปฏิบัติเดิม โดยตัวอย่างของจุดเริ่มต้นของการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนี้
- กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นการผสมผสานของความรู้ ทักษะ เจตคติหรือคุณค่าที่จะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
ตัวอย่างผลลัพธ์การเรียนรู้ : วิเคราะห์ลักษณะกายภาพและเคมี จากความเป็นจริงของปรากฎการณ์ พร้อมเขียนสมการเคมีน้ำเสียในคลองหลังโรงเรียนได้อย่างมีตัวบ่งชี้ชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องสี กลิ่น ส่วนประกอบของสารเคมี
- การจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนด โดยเริ่มจากการกำหนดธีม (Theme) ซึ่งจะได้มาจากหัวข้อที่ส่งผลกระทบกับหลายส่วน (Big issue) จากนั้นจัดการเรียนรู้ให้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การคำนวณ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับระดับชั้น และเนื้อหาสาระที่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน
- ออกแบบแผนการเรียนการสอนในระบบ OLE โดย O เป็นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน โดยต้องเขียนให้ชัดผสมผสานกันของความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือคุณค่า L เป็นการจัดการเรียนรู้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ได้ชัดเจน และ E เป็นการวัดประเมินผล)
- ขั้นตอนการทำโปรเจค ดังนี้ รับรู้ปัญหาแท้จริง เข้าใจสาเหตุของปัญหา หาวิธีแก้ปัญหาบ
- ขั้นตอนการวัดและประเมินผล จำเป็นต้องประเมินตามผลลัพธ์ที่กำหนดเกิดกับผู้เรียน
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช
รองผู้อำนวยการ สสวท.
บทบาทของ สสวท. กับการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ขณะนี้ สสวท. ได้ประกาศยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่เน้นการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อน การวิจัยพัฒนาการเรียนการสอน SMT เพื่อพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก ซึ่งมีทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ ที่มีความเชื่อมโยงและเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ช่วยในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 Integrative Curriculum พัฒนาหลักสูตร สื่อ ต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้และเครื่องมือวัดประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย เป็นยุทธศาสตร์ที่พัฒนาหลักสูตร สื่อ ต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้และเครื่องมือวัดประเมินผลการเรียนรู้ โดยกลยุทธ์ที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะนั้น ทาง สสวท.จะพัฒนาและสร้างหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ และสร้างนวัตกรรมสื่อดิจิทัลและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งสร้างการวัดและประเมินผลแบบองค์รวมอย่างครบวงจรตามมาตรฐานประเทศและนานาชาติ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 Innovative Platform การพัฒนาและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง เป็นยุทธศาสตร์ที่พัฒนาและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ SMT โดยกลยุทธ์จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ที่มีการจัดระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างวงจรความรู้กับวงจรการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการที่ครูจัดโปรแกรมให้ผู้เรียนเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของวงจรทั้งสองจะทำให้เรารู้ว่าผู้เรียนเรียนรู้อะไร มีการเรียนรู้อย่างไร และพฤติกรรมของการใช้สื่ออย่างไร ซึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมในอนาคตจะทำหน้าที่วิเคราะห์ผู้เรียน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 Inclusive Teaching การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้การสอนฐานสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีส่วนร่วมให้สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการโลก เป็นยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้การสอนฐานสมรรถนะด้าน SMT โดยช่วยคุณครูให้จัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะให้ได้ รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะร่วมกัน
นอกจากนี้ สสวท. ยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินงานในทุกด้านอย่างเป็นระบบ ทั้งการวิจัยและพัฒนาต้นแบบหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้การวัดประเมินผล รวมทั้ง สสวท. มีการวางกลยุทธ์ในการพัฒนาครู และจัดระบบดูแลครูเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และจัดความเชื่อมโยงของผลผลิตและบริการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบ
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น สสวท. ยังมีการจัดเตรียมสื่อในหลากหลายรูปแบบและครบถ้วนที่ช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ เช่น หนังสือเรียนดิจิทัล หลักสูตรอบรมครู ระบบคลังข้อสอบออนไลน์สำหรับครูและนักเรียน คลังความรู้ แผนการสอนที่เชื่อมโยงชีวิตจริง วีดิทัศน์ Project 14 ที่สอนเนื้อหาตามหนังสือเรียน ซึ่งการดำเนินการที่กล่าวที่กล่าวข้างต้น ล้วนมีส่วนในการสนับสนุนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นระบบ